วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

DHAMMA 1 - อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม ตอนที่ ๑


อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระนิพนธ์เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิตและพระคติธรรมเพื่อเป็นแสงส่องใจ

หนังสือ “อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม” มีทั้งหมด 7 หัวข้อ
- อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม
- ความน่าพิศวงของกรรม
- ทำกรรมดี ย่อมเกิดผลดี
- พึงประกอบกรรมดี อันเป็นเหตุดี
- มือแห่งบุญ มือแห่งบาป
- ทุกชีวิตล้วนอยู่ในอุ้งมือกรรม
- สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
....................................................................................
พระคติธรรม

พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจในกรรมนั้น ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน

คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น อันเป็นส่วนจิต และศีลอันหมายถึงตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำให้ขอบเขตอันควร

ทางพระพุทธศาสนา สอนให้ทุก ๆ คนพิจารณาหลักกรรมเนือง ๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาท พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาในหลักกรรม และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อในผลของกรรม ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธาเชื่อดังกล่าว จึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามสมควร

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
...........................................................................................

อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่วและอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี อย่างมากที่สุดที่มีอยู่ คือ อำนาจของกรรมดีแม้ให้มาก ให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามมาถึงได้ยาก ดังมีเครื่องขวางกั้นไว้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ย่อมยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมชั่ว ก็หาใช่อะไรอื่น คือ ความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง

โรคทางใจมีอยู่ทั่วทุกตัวคน หนักเบาต่างกันที่อำนาจของกรรมที่ตนกระทำ

คนน่าสงสารในโลกนี้มีมากนัก ทั้งน่าสงสารทางกาย และน่าสงสารทางใจ เราเองแทบทุกคนก็เป็นโรคน่าสงสารเช่นที่กล่าว แต่เมื่อไม่ใช่โรคทางกาย ก็ไม่เห็นกันไม่รู้กันว่า ตนเป็นคนหนึ่ง จำนวนมหาศาลที่น่าสงสาร และน่าสงสารยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย น่ากลัวน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย โรคน่าสงสารทางใจตัวเอง ต้องรู้ด้วยตัวของตัวเอง ต้องยอมรับด้วยตัวของตัวเอง จึงจะแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีทางจะรักษาโรคทางใจได้เลย แม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นโอสถรักษาโรคทางใจของผู้ที่ไม่ยอมรับรู้ว่าใจของตนมีโรค นั่นก็คือผู้ไม่ยอมรับการรักษา ไม่ยอมรับโอสถของพระพุทธเจ้า เขาย่อมเป็นคนน่าสงสารตลอดไป พบคนเช่นนี้พึงย้อนดูตนเอง คงจะต้องพบโรคทางใจด้วยกัน เพียงแต่ว่าจะมากน้อยหนักเบากว่ากันเพียงไร ตามอำนาจของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วเท่านั้น

กรรมให้ผลตรงตามเหตุแห่งการกระทำ

กรรมนั้นน่าเชื่อถือนักในการให้ผลตรงตามเหตุ ไม่มีอคติด้วยอำนาจใดเลย แม้เกิดอยู่ในฐานะที่สุขสบาย ก็มิใช่ว่าไม่จำเป็นต้องนึกถึงกรรม มิใช่ว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อกรรม สุขสบายเพียงไร ก็จำเป็นต้องนึกถึงกรรม ถ้าไม่ได้ทำกรรมดีอันควรแก่เหตุแล้ว จะอยู่ในฐานะสุขสบายได้อย่างไร ใครอื่นอีกมากมายหาได้อยู่ในฐานะเช่นนั้น อดอยากยากไร้เข็ญใจกันนักหนา ทำไมเป็นได้เช่นนั้น มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เป็นไป แม้ไม่ตั้งข้อคิดในเรื่องเช่นนี้เสียเลย ย่อมไม่อาจอบรมปัญญาให้เห็นถูกในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญแก่ทุกชีวิตที่ปรารถนาความสวัสดี

ทั้งคนและสัตว์ ต่างถูกอำนาจกรรมทำให้เป็นไป

คนก็ตาม สัตว์ก็ตาม เกิดด้วยอำนาจของกรรม กรรมนำให้เป็นคน และกรรมนำให้เป็นสัตว์ เชื่อไว้ก่อนย่อมมีโอกาสที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ เพราะเมื่อเชื่อว่ากรรมมีอำนาจถึงเพียงนั้น ก็ย่อมขวนขวายทำกรรมที่จะไม่นำให้ต้องไปเป็นสัตว์ ไม่มีใครที่ไม่กลัวความเป็นสัตว์ และมีโอกาสที่จะได้เกิดเป็นสัตว์แน่ในภพภูมิข้างหน้า แม้บังเอิญไปทำกรรมที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้นโดยจะรู้หรือไม่รู้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม พลาดพลั้งไปทำกรรมผิดเข้า ก็จะไม่อาจปฏิเสธผลของกรรมได้เลย

ไม่มีผู้ใดปรารถนารับผลของกรรมที่ไม่ดี

อันผู้ไม่ทำดีประการต่าง ๆ ด้วยกายวาจา อันเนื่องมาจากใจที่ไม่ดีของเขานั้น ที่จริงแล้วผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาพอสมควร ประกอบด้วยความเชื่อในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมไม่น่าจะมีผู้ใดปรารถนาเป็นคนไม่ดี แต่ทำไมจึงมีคนไม่ดีมากมาย ทั้ง ๆ ที่มิได้ปรารถนา คิดให้เข้าใจในเรื่องของกรรมจะรู้ชัดว่ากรรมที่คนผู้นั้นทำไว้ในอดีต ได้ติดตามห้อมล้อมจิตเขามาให้ปรากฏเป็นผลในปัจจุบัน ทั้งที่ในปัจจุบันเขาก็มิได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น และหากเขาเข้าใจเรื่องของกรรมบ้างแล้ว เขาจะกลัวไปถึงชาติในอนาคต เขาจะพยายามไม่ทำกรรมไม่ดี เพราะเข็ดกลัวผลของกรรมที่ทำให้เขาต้องเป็นคนไม่ดีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เขาไม่ปรารถนาเลย

ความรักผู้อื่น ทำให้หลีกเลี่ยงการทำกรรมไม่ดีได้

เป็นผู้ใหญ่ก็อย่าทำกรรมไม่ดี เป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มสาวก็อย่าทำกรรมไม่ดี แม้รักตัวเองก็อย่าทำกรรมไม่ดี จงทำแต่กรรมดี หรือแม้รักพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน ก็อย่าทำกรรมไม่ดี ผลไม่ดีที่ผู้ทำได้รับนั้นจะทำให้บรรดาผู้ที่รักตนพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย ลองนึกถึงใจตนเอง เมื่อเห็นผู้ที่ตนรักทำความไม่ดี แม้ผลไม่ดี ยังไม่ทันปรากฏชัด ตนก็ไม่สบายใจ ยิ่งเมื่อได้ผลร้ายเกิดขึ้นสนองผู้ทำกรรม เราผู้มีความผูกพันกับเขา ก็ย่อมเหมือนพลอยได้รับผลร้ายด้วย

ถ้าเราทำกรรมไม่ดี ผู้ที่รักเราก็ได้รับผลไม่ดีไปด้วย

ดังนั้นแม้ไม่รักตนเอง ก่อนจะทำอะไรก็ควรนึกถึงใครทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีผู้เป็นที่รักอยู่ด้วย ถ้าเราทำกรรมไม่ดีได้รับผลไม่ดี ผู้ที่รักเราและผู้ที่เรารักก็จะต้องพลอยได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจไปด้วยอย่างไม่ยุติธรรม เพราะมิได้เป็นผู้ทำกรรมไม่ดีด้วย แต่ต้องพลอยได้รับผลไม่ดีเพราะความผูกพัน ดังนั้นจะทำความไม่ดีใด ก็น่าจะนึกถึงบรรดาผู้ที่มีความผูกพันกับเราบ้าง อาจจะช่วยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการหลีกเลี่ยงการทำกรรมไม่ดี

ใช้สติยั้งคิดให้เคยชินก่อนทำกรรมไม่ดีใด ๆ

ก่อนจะทำกรรมใด แม้หยุดยั้งตั้งสติ คิดให้ดีว่ากรรมนั้นดีหรือไม่ดี ก็จะทำให้ไม่ทำกรรมไม่ดีอย่างเต็มใจ อย่างสบายใจ แต่จะมีเวลายับยั้งชั่งใจ อันเป็นความสำคัญควรจะทำให้เป็นความเคยชินด้วยกันทุกคน

หมั่นพิจารณาให้กลัวกรรมไม่ดีอยู่เนือง ๆ

การพิจารณากรรมให้กลัวกรรมไม่ดีนั้น อาจทำได้แม้เมื่อเป็นสิงสาราสัตว์ จะเห็นตัวจริงหรือเห็นเพียงรูปภาพก็ตาม สัตว์เหล่านั้นล้วนมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด แต่ก็เหตุใดเล่าที่ทำให้ต้องมาเกิดเป็นสัตว์ ไม่ได้เกิดเป็นผู้เป็นคน เป็นมนุษย์ที่สูงกว่า ประเสริฐกว่าเป็นอันมาก ต้องกรรมที่สัตว์เหล่านั้นได้ประกอบกระทำมาให้อดีตชาติปรุงแต่งให้เป็นไป ให้มีรูปลักษณ์ของสัตว์ ที่แม้บางชนิดจะน่ารักน่าเอ็นดู แต่ก็เป็นสัตว์ แม้จะได้รับความรักความเอ็นดูอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงดูอย่างดี ก็เป็นแบบที่ให้แก่สัตว์ และก็ไม่แน่ใจน่าสัตว์จะมีความคิดอย่างไร จะเศร้าเสียใจในความต้องการเป็นสัตว์หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพ้นจากภพภูมิมนุษย์ทันทีก็ได้ภพภูมิของสัตว์ อาจจะยังไม่ลืมชีวิตในภพภูมิมนุษย์ อาจจะยังจำผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วยได้ จิตของสัตว์นั้นจะน่าสงสารสักเพียงไหน แต่เมื่อเกิดแล้วก็เลือกไม่ได้แล้วที่จะเกิดเป็นอะไรอื่น ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกคนมีโอกาสที่จะเลือกชีวิตข้างหน้า ภพภูมิข้างหน้าได้ ถึงทำความดีให้เต็มความสามารถ อย่าละโอกาสที่จะทำความดีเลย นั่นแหละจะเป็นการเลือกภพชาติข้างหน้าสำหรับตนได้ จะเลือกเป็นอะไรก็ได้ ไม่เป็นอะไรก็ได้

ผู้ไม่ประมาท ระวังในการกระทำกรรม

อนิจจัง
...ความไม่เที่ยง
ทุกขัง
...ความเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง
อนัตตา
...ความไม่เป็นไปตามปรารถนาต้องการ
นี้คือ ไตรลักษณ์ ลักษณะสามที่มีในทุกคนทุกสิ่ง ความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ความเป็นมนุษย์ ความเป็นสัตว์ เหล่านี้ตั้งอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นแม้ว่าชาติหนึ่งกรรมไม่ดีจะแต่งให้เป็นสัตว์ ก็มิใช่ว่าจะต้องเป็นสัตว์ทุกชาติ และแม้ว่าชาติหนึ่งกรรมดีจะนำให้เป็นมนุษย์ ก็มิใช่ว่าจะได้เป็นมนุษย์ทุกชาติ นั่นก็คือสัตว์ย่อมเป็นคนได้ และคนก็ย่อมเป็นสัตว์ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน แต่ละสัตว์ ผู้ไม่ประมาทระวังในการกระทำกรรม ย่อมสามารถพ้นจากการถือภพชาติอันไม่ปรารถนาได้

ผู้ไม่ประมาทพึงทำใจให้พ้นจากความยึดมั่น

กรรมที่อาจทำให้มนุษย์ในชาติหนึ่งต้องเป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่ง หรือทำสัตว์ในชาติหนึ่งให้กลับเป็นมนุษย์ในอีกชาติหนึ่ง มีผู้เขียนบ้างเล่าบ้างไว้หลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องที่มีปรากฏในพุทธกาล จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามพึงไม่ประมาท กรรมใดที่เคยมีแสดงไว้ว่า ทำให้มนุษย์ต้องเกิดเป็นสัตว์ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่พึงทำ กรรมสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นกรรมทางใจคือความผูกพัน ผู้ตายมีความผูกพันในภพภูมิของตน เช่น ผูกพันในทรัพย์สมบัติของตนในภพภูมินั้น ความผูกพันยึดมั่นอาจนำให้กลับมาเกิดในบ้านเรือนตนอีกได้ แต่จะมิใช่เป็นมนุษย์ มีเรื่องเล่าว่า เกิดเป็นเล็นก็มี เกิดเป็นสุนัขก็มี ซึ่งน่าจะไม่มีผู้ใดปรารถนาจะเป็น จึงน่าจะต้องระวังกรรมทางใจให้มาก เช่นเดียวกับกรรมทางกายทางวาจา อย่ายึดมั่นห่วงใยในอะไรให้มากนัก วางเสีย ปล่อยเสีย ท่องพุทโธไว้เสมอนั่นแหละจะทำให้ถอนใจจากความยึดมั่นได้ เคยมีผู้เล่าเรื่อง เจ้าของพระพุทธรูปงดงามองค์หนึ่ง สิ้นชีวิตไปในขณะที่จิตใจกำหลังรักและหวงแหนพระพุทธรูปองค์นั้นอย่างยิ่ง เมื่อมีผู้มาขอชมพระพุทธรูป ก็มีงูใหญ่เลื้อยมาแผ่พังพานขู่อยู่ต่อหน้าแสดงความหวงแหน เมื่อผู้มาขอชมพูดว่าเพียงมาขอชมไม่ได้คิดจะนำไปเป็นของตน งูก็เลื้อยห่างไป ว่ากันว่าเจ้าของพระพุทธรูปได้มาเกิดเป็นงูเสียแล้ว เพราะความผูกพันหวงแหนพระพุทธรูป ความยึดมั่นผูกพันจึงเป็นกรรมทางใจที่น่าจะเป็นเหตุแห่งการทำให้มนุษย์ในชาติหนึ่งต้องเป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งได้ จึงไม่พึงประมาท จะจริงหรือไม่จริง เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็อย่าประมาทไว้ก่อน พยายามทำกรรมทางใจให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นให้ได้เต็มความสามารถเถิด

อำนาจแห่งมโนกรรม

ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องที่พระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อมรณภาพลงพระรูปหนึ่งจะนำจีวรไป พระพุทธเจ้าทรงห้ามและรับสั่งเล่าว่า พระภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้น ได้มาเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวรที่ท่านซักตากไว้ เพราะจิตของท่านเมื่อจะมรณภาพนั้นผูกพันอยู่กับจีวรผืนนั้น ที่ท่านเพิ่งได้มาและชอบมาก กรรมทางใจหรือมโนกรรมมีโทษหนักเพียงนี้ ทำมนุษย์ในชาติหนึ่ง ให้เป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งก็ได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเมื่อเป็นสัตว์แล้ว ก็ยังระลึกถึงครั้งเมื่อเป็นมนุษย์ได้ จะเดือดร้อนใจเพียงไหน พระพุทธเจ้ารับสั่งห้ามไม่ให้นำจีวรไป เพราะเล็นที่เป็นเจ้าของจีวรครั้งยังเป็นพระภิกษุนั้นหวงอยู่ ถ้านำจีวรไปก็จะโกรธแค้นขุ่นเคือง จะทำให้ไม่ได้ไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก อำนาจกรรมแม้เพียงมโนกรรมทางใจ ไม่ได้ปรากฏเป็น กายกรรม วจีกรรม ถึงเป็นการเบียดเบียนทำร้ายผู้ใด ก็ยังมีอำนาจใหญ่ยิ่งเพียงนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงเตือนให้ระวัง ทุกคนจึงควรระวังให้จงหนัก

กรรมส่งผลแน่นอนต่อผู้กระทำ

ทุกวันนี้มีข่าวฆ่าฟันกันอย่างทารุณโหดเหี้ยม มิได้เว้นแต่ละวัน พบแล้ว เห็นแล้ว ก็ให้นึกถึงกรรม เคยฆ่าเขามาก็ถูกเขาตามมาฆ่า คนละภพคนละชาติ ข้ามภพข้ามชาติแล้วก็ยังตามกันมาได้ มาส่งผลได้ เรื่องกรรมเป็นเช่นนี้ จึงน่ากลัวกรรมนัก พึงกลัวกรรมนัก ไม่พึงคิดว่าการเชื่อว่าการฆ่าฟันตามล้างตามผลาญกัน เป็นเรื่องกรรมนั้นเป็นความเชื่อที่เหลวไหล ไม่มีเหตุผล ไม่พึงคิดเช่นนี้ เพราะไม่มีคุณอย่างใด จะถูกหรือจะผิด ถ้านึกเชื่อไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องการให้ผลของกรรม ก็จะทำให้ไม่กล้าทำกรรมไม่ดีโดยตั้งใจ ก็จะพ้นจากผลของกรรมไม่ดีนั้นแน่นอน อุบัติเหตุในยุคนี้สมัยนี้ ที่รุนแรงก็มีมากมาย บางเรื่องไม่น่าเป็นก็เป็น บางคนไม่น่าประสบอุบัติเหตุเช่นนั้นก็ต้องประสบ ดูไปแล้ว คิดไปแล้ว ก็น่าจะรู้สึกว่าอุบัติเหตุอย่างนั้น ๆ เกิดขึ้นเพื่อให้คนนั้นคนนี้ต้องบาดเจ็บหรือล้มตายไปเท่านั้น เมื่อคิดเช่นนี้ เพราะไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ ก็ย่อมจะทำให้คิดว่าต้องเป็นเรื่องที่กรรมจะส่งผลแก่ผู้นั้น ในที่นั้น ในเวลานั้น อุบัติเหตุจึงต้องเกิดขึ้นดังนี้ การถูกฆ่าของเด็กไร้เดียงสาหาความผิดไม่ได้ ซึ่งปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในยุคนี้ น่าจะทำให้ความเชื่อในเรื่องกรรมและการทำให้ผลของกรรมหนักแน่นขึ้น ทำไมต้องเป็นเด็กคนนั้นที่ถูกฆ่าทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องขุ่นเคืองโกรธแค้นกัน อยู่ดี ๆ มีความสุข ก็ปุบปับถูกนำไปประหัตประหาร ในฐานะเป็นผู้ดู จงดูด้วยความรู้สึกกลัวกรรม ไม่ควรดูด้วยความรู้สึกอาฆาตขุ่นเคือง เพราะจะไม่เป็นคุณแก่จิตใจตนเอง มีแต่จะเป็นโทษ รู้แล้ว ปลงลง นี่แหละอำนาจของกรรมยิ่งใหญ่นัก พึงกลัวนัก

ใจจักร้อนรุ่ม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรมและผลกรรม

แม้ในฐานะเป็นผู้ดู มิใช่ผู้พลอยได้รับความเดือนร้อนทนทุกข์ทรมานด้วย ถ้าไม่สามารถทำใจอบรมใจให้เข้าใจในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมได้แล้ว เมื่อตนต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์อันร้ายแรง ก็ย่อมยากที่จะช่วยใจตนเองให้พ้นจากความร้อนได้ แม้เพียงพอสมควร

รับรู้สิ่งใด พึงถือโอกาสอบรมจิตใจเรื่องกรรม

เรื่องร้ายแรงที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เกิดขึ้นอยู่มากมายทุกวัน ทุกคืน แม้จะอยู่ในบ้านเรือนตนสมัยนี้ก็สามารถรับรู้ได้ เห็นได้ ได้ยินได้ พึงถือโอกาสอบรมใจตนเองให้เชื่อในเรื่องของกรรม กรรมน่ากลัวเพียงไร คิดให้ดี เมื่อกรรมมาถึง หนีได้หรือไม่ คนดีในชีวิตนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยทำกรรมไม่ดีมาก่อนในอดีตชาติ ดังนั้น จึงปรากฏบ่อย ๆ ว่าคนดีแสนดีกลับต้องได้ความทุกข์หนักหนา ด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ด้วยความไม่สมหวังในเรื่องใหญ่โตสำคัญแก่จิตใจบ้าง เป็นเหตุให้ต้องเศร้าหมองทรมานอย่างยิ่ง

ผู้มีปัญญาพึงรับผลของกรรมให้ถูกต้อง

เราได้รู้ได้เห็นอย่าพิศวงสงสัย อย่าได้คิดผิดว่าคนทำดีไม่ได้ดี แต่จงวางใจให้ถูก ให้เป็นประโยชน์แก่ตน วางใจลงในกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก ยากที่จักเข้าใจ แต่ก็ไม่ยากที่จะเชื่อไว้ก่อน อะไรที่เชื่อไว้ก่อนแล้วไม่มีโทษมีแต่คุณ ผู้มีปัญญาแม้พอสมควรย่อมไม่ดื้อปฏิเสธ การรับผลของกรรมนั้นสำคัญมาก สำคัญทั้งการรับผลของกรรมชั่วและการรับผลของกรรมดี ไม่สำคัญแต่เพียงการรับผลของกรรมชั่วเท่านั้น การรับผลของกรรมดีก็สำคัญ การรับผลของกรรมดีนั้น ถ้ารับไม่ถูกก็มีโทษร้ายแรงแก่จิตใจน่าจะรุนแรงกว่าการรับผลของกรรมชั่วอย่างไม่ถูกวิธีเสียอีกด้วย ผู้ทำกรรมดีไว้เป็นบารมี ส่งให้ชาตินี้สมบูรณ์พร้อม แม้รับผลแห่งกรรมดีหรือผลของบารมีไม่ถูก ผลเสียที่จะเกิดตามมาคือ ความหลงตน อันความหลงตนนั้นจะพาความหลงอีกมากมายให้ตามมา เป็นโทษมหันต์นัก

ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มีคุณและโทษในตัว

ผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่ว มีทั้งคุณและมีทั้งโทษอยู่ในตัว คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิดแก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะต้องตามมา

การทำใจให้รับผลของกรรมดีอย่างถูกต้อง

ผู้ได้รับผลดีของกรรมดี คือ การได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นเอง ต้องรับให้ดี ต้องรับให้ถูก วิธีทำใจให้รับโลกธรรมอย่างถูกต้องที่สุดก็คือให้คิดว่า ลาภก็ตาม ยศก็ตาม สรรเสริญก็ตาม สุขก็ตาม ล้วนอยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ได้รับผลดีของกรรมดี คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดีเมื่อไร เมื่อนั้นให้ถึงคิดไตรลักษณ์ให้ทันที จะรับผลดีของกรรมดีที่ดียิ่งกว่าผลดีทั้งนั้น การคิดถึงไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ คือ การทำความดีทางใจ เป็นมโนกรรมที่ดี จึงย่อมได้รับผลเป็นความดีตรงตามเหตุที่ได้กระทำ ที่จริงมโนกรรม กรรมทางใจ คือ คิดดีนั้น แม้ตั้งใจจริงที่จะทำก็น่าจะง่ายกว่ากรรมทางกาย ทางวาจา เพราะเรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของเราเองอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวกับผู้ใดหรืออะไรเลย ความคิดอยู่กับเราจริง ๆ ไม่มีผู้ใดอาจล่วงล้ำก้ำเกิดไปบังคับบัญชาได้

การทำใจเมื่อได้รับผลของกรรมชั่วอย่างถูกต้อง

ได้รับผลของกรรมชั่ว คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดี ก็ควรต้องทำใจให้รับให้ถูก เช่นเดียวกับการทำใจรับโลกธรรมฝ่ายดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ หรือความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท รับผลไม่ดีของกรรมไม่ดี ด้วยวิธีคิดเช่นเดียวกับเมื่อได้รับผลดีของกรรมดี คือ คิดถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกข์แล้วก็สุข เป็นธรรมดา

ผลของกรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทั้งผลของกรรมดี และผลของกรรมชั่ว ล้วนมีลักษณะสาม คือ ไม่เที่ยง ทนทุกข์อยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งผลของกรรมดีและกรรมชั่วนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่มีที่จะยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป

พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมทั้งปวง

สิ่งทั้งปวงเกิดแล้วต้องดับ คือมีลักษณะสาม มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ โลกธรรมผ่ายดีคือผลของกรรมดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ โลกธรรมฝ่ายไม่ดีคือผลของกรรมไม่ดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ตามเป็นจริงแล้ว ก็พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมที่ได้ประสบอยู่ ไม่ว่าจะเมื่อประสบผลดีหรือเมื่อได้ประสบผลชั่วก็ตาม
ถึงทุ่มเทจิตใจให้กระทำแต่กรรมดี
ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ แต่เมื่อยังละความยึดทุกอย่างไม่ได้ ก็พึงทุ่มเทจิตใจให้ยึดมั่นการทำกรรมดี ยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความดี ว่าทำดีจักได้ดีจริง มีความยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความชั่ว ว่าทำชั่วจักได้ชั่วจริง ความยึดมั่นเช่นนี้จักเป็นทางนำไปดี ให้ได้ทำดี ไม่ทำไม่ดี ซึ่งก็ย่อมจักนำให้พ้นทุกข์โทษภัยของกรรมไม่ดี ได้รับแต่คุณประโยชน์สารพัดของกรรมดี

ความน่าพิศวงของกรรม

กรรม หมายถึง การกระทำ
คำว่า
“กรรม” ในพระพุทธศาสนา เป็นคำที่มีความหมายเป็นกลาง หมายถึงการกระทำ ไม่เจาะจงบ่งเป็นการกระทำที่ไม่ดี อันเป็นกรรมที่ไม่ดี เป็นบาปกรรม หรือเป็นอกุศลกรรม และไม่เจาะจงบ่งเป็นการกระทำดี อันเป็นกรรมดี เป็นบุญกรรม หรือเป็นกุศลกรรม คำว่า “กรรม” นั้น ทั่วไปใช้ในความหมายว่า ความไม่ดี เช่นเดียวกับคำบาปกรรมและอกุศลกรรม จึงเท่ากับทั่วไปใช้คำ “กรรม” เป็นคำย่อของกรรมไม่ดี คือ บาปกรรม หรืออกุศลธรรม

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุด

พุทธศาสนสุภาษิตมีว่า “วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” ในบรรดาอำนาจทั้งปวงในโลก
อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุด อำนาจเป็นใหญ่ในโลก และไม่มีอำนาจใดเสมออำนาจของกรรม
กรรมดีมีอำนาจในทางดี กรรมไม่ดีมีอำนาจในทางไม่ดี
คนดีมีอำนาจ ย่อมใช้อำนาจในทางดี
เปรียบเช่นคนดีมีอำนาจ ย่อมใช้อำนาจในทางดีก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น
คนไม่ดีมีอำนาจ ย่อมใช้อำนาจในทางไม่ดี ก่อให้เกิดความทุกข์ ความร้อนทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น
คนดีมีอำนาจในทางดี ผู้ทำกรรมดีจึงมีอำนาจในทางดี ย่อมใช้อำนาจนั้นก่อความร่มเย็นเป็นสุข ให้เกิดทั้งตนเอง ให้เกิดทั้งแก่ผู้อื่น
คนไม่ดีมีอำนาจในทางไม่ดี ผู้ทำกรรมไม่ดีจึงมีอำนาจในทางไม่ดี ย่อมใช้อำนาจนั้นก่อความทุกข์ความร้อน ให้เกิดแก่ตนเอง ให้เกิดทั้งแก่ผู้อื่น

กรรมเป็นของของตน

ความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขก็ตาม ความตกต่ำทุกข์ร้อนก็ตาม ย่อมเกิดจากกรรม ย่อมมีกรรมเป็นเหตุให้เกิด แน่นอนเสมอไป ผลดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมดี มีกรรมดีเป็นเหตุ ผล ไม่ดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุ
กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของผู้อื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจักได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลไม่ดี เป็นความตกต่ำเป็นความทุกข์ร้อน

ผลแห่งกรรม ย่อมตรงต่อเหตุที่กระทำไว้

อำนาจของกรรมทั้งใหญ่ยิ่ง ทั้งล้ำลึก ยากที่สามัญชนคนทั้งหลายจะเข้าใจได้ถูกแท้ แต่แม้ผู้ใดจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม ย่อมไม่พ้นผลของกรรมที่ตนกระทำแล้วได้ ย่อมต้องได้รับผลของกรรมที่ตนกระทำแล้ว ทำกรรมดีใดจักได้รับผลของกรรมดีนั้น ทำกรรมไม่ดีใด
... จักได้รับผลของกรรมไม่ดีนั้นแน่นอนเสมอไป
ผลที่เกิดแต่กรรมใด ย่อมตรงกับกรรมที่เป็นเหตุแห่งผลนั้นเสมอ เช่น ความขี้โรคย่อมเกิดแต่ความเบียดเบียน ความขี้โรคเป็นผลอันตรงกับกรรมที่เป็นเหตุคือ ความเบียดเบียน ความเบียดเบียนเป็นการทำให้เกิดความไม่เป็นสุข ความขี้โรคก็เป็นความไม่เป็นสุข ผู้ทำเหตุคือความเบียดเบียน ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้ขี้โรค ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้

ผู้ไม่เบียดเบียน เป็นผู้มีอายุยืน

ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมเกิดแต่ความไม่เบียดเบียน ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุคือความไม่เบียดเบียน
ความไม่เบียดเบียนเป็นการทำให้มีความสุขความเจริญอายุ ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นความสุขความเจริญอายุ ผู้ทำเหตุคือความไม่เบียดเบียน ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้มีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ผู้มีศีล จิตใจจักเบิกบาน ผิวพรรณผ่องใส
ความมีหน้ามีตาเบิกบานแช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ย่อมเกิดแต่ความมีศีล
ความมีหน้าตาเบิกบานแช่มชื่นผิวพรรณผ่องใสงดงาม เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือความมีศีล
ความมีศีลเป็นการทำให้มีจิตใจเบิกบาน แจ่มใส เป็นสุข
ความมีหน้าตาเบิกบานแช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม แสดงถึงความมีจิตใจเบิกบานแจ่มใสเป็นสุข
ผู้ทำเหตุ คือ ความมีศีล ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้มีหน้าตาเบิกบาน แช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ความไม่มีศีล ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
ความมีหน้าตาผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส ย่อมเกิดแต่ความไม่มีศีล ความมีหน้าตาผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือ ความไม่มีศีล
ความไม่มีศีลเป็นการทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่เบิกบานเป็นสุข
ความมีหน้าตาผิวพรรณเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส แสดงถึงความมีจิตใจเศร้าหมอง ไม่เบิกบานเป็นสุข
ผู้ทำเหตุ คือ ความไม่มีศีล ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้มีหน้าตาผิวพรรณเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม จักเกิดในตระกูลสูง
ความได้เกิดในชาติตระกูลสูง ย่อมเกิดแต่ความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม
ความได้เกิดในชาติตระกูลสูง เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือ ความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรได้รับความอ่อนน้อม
ความอ่อนน้อมต่อ
ผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม ย่อมทำให้ได้เกิดในชาติตระกูลสูง ความได้เกิดในชาติตระกูลสูง จักทำให้ได้รับความอ่อนน้อม แตกต่างกับความเกิดในชาติตระกูลต่ำ
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ผู้ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม จักเกิดในตระกูลต่ำ
ความได้เกิดในชาติตระกูลต่ำ ย่อมเกิดแต่ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม
ความได้เกิดในชาติตระกูลต่ำ เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือ ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรได้รับความอ่อนน้อม
ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม ย่อมทำให้ได้เกิดในชาติตระกูลต่ำ ความได้เกิดในชาติตระกูลต่ำ จักทำให้ไม่ได้รับความอ่อนน้อม แตกต่างกับความเกิดในชาติตระกูลสูง
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัติ สมบูรณ์บริบูรณ์ เกิดแต่กรรมคือการบริจาค
ความพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ย่อมเกิดแต่ความบริจาค ความพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือ ความบริจาค
ความบริจาคเป็นเหตุที่ผู้จะทำได้ จะต้องมีความพอใจระดับหนึ่งและมีความเมตตากรุณาในระดับหนึ่ง ซึ่งนับเป็นสมบัติของใจ
สมบัติของใจ คือ ความพอและความเมตตากรุณา ที่ประกอบด้วยการสละบริจาคเป็นกรรมฝ่ายเหตุ มีความพร้อมด้วยสมบัติเป็นผล
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ความขาดแคลน เกิดแต่การไม่บริจาค
ความขาดแคลน ย่อมเกิดแต่ไม่มีการบริจาค คือไม่ได้ทำเหตุ คือ การบริจาคที่จะให้เกิดผลเป็นความไม่ขาดแคลน ไม่ได้ทำเหตุที่จะให้ผลเป็นความพรั่งพร้อม
แม้ทำเหตุแห่งความพรั่งพร้อมไม่ขาดแคลน ย่อมได้รับผลเป็นความพรั่งพร้อม ไม่ขาดแคลน
ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
ผู้ปรารถนาความมีปัญญา พึงทำจิตให้สงบ
ความมีปัญญา ย่อมเกิดแต่การปฏิบัติอบรมจิตให้สงบ จิตสงบเพียงไร ปัญญาย่อมยิ่งเพียงนั้น จิตวุ่นวายเพียงไร ปัญญาย่อมหย่อนเพียงนั้น
ปัญญาเป็นความฉลาดที่เกิดแต่เรียนและคิด จิตที่สงบจะทำให้ใช้ความคิดได้อย่างดี ต้องการจะคิดเรื่องใดให้แตกฉานรู้จริงด้วยตนเอง มิใช่เป็นเพียงความรู้ของผู้อื่น จิตที่สงบก็จะทำได้ให้เป็นปัญญาขึ้นมาได้ แต่จิตที่ไม่สงบวุ่นวายจะทำไม่ได้
ผู้มีปัญญา
...จึงเป็นผู้มีจิตสงบ แม้ปรารถนาจะเป็นผู้มีปัญญา ถึงทำใจให้สงบ คือ สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเพียงไร พึงทำให้สงบเพียงนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ ทำใจให้สงบได้เพียงใด ก็จะสามารถอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นได้เพียงนั้น
จิตไม่สงบ จะคิดแบบไม่สงบ คือ คิดสับสนวุ่นวายจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ไปอีกเรื่องหนึ่ง ไปอีกเรื่องหนึ่ง เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ๆ จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น จากเรื่องนั้นไปเรื่องโน้น โดยไม่เข้าใจถูกต้องชัดเจนในเรื่องใดเลย ทั้งนี้เป็นไปด้วยอำนาจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ทำให้จิตวุ่นวายไม่สงบ

ความเข้าใจในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม

ความเข้าใจในเรื่องล้ำลึกอย่างที่สุด คือเรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรม ก็จะเกิดได้ด้วยความมีปัญญายิ่ง ความใช้ปัญญายิ่งคิดตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในเรื่องของกรรมว่า กรรมดี
...ย่อมให้ผลดี กรรมชั่ว...ย่อมให้ผลชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมต้องได้รับผลกรรมนั้น แม้ใช้ปัญญาคิดเช่นนี้เนือง ๆ ย่อมได้ความเข้าใจถูกต้อง
หยิบยกพระพุทธดำรัสเรื่องกรรมขึ้นพิจารณา ด้วยใจที่สงบ ไม่วุ่นวาย แม้ในระยะแรกจะไม่เชื่อว่าเป็นจริง แต่แม้คิดใคร่ครวญพิจารณาเนือง ๆ ก็ย่อมจะได้ปัญญา เป็นแสงสว่างทำลายความมืดไม่รู้ ให้เป็นความเห็นถูกรู้ถูกในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธดำรัสไว้ด้วยพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง
ความจริงที่เที่ยงแท้
ส่วนของกรรม ย่อมเป็นไปตรงตามกรรมอันเป็นส่วนเหตุที่ได้กระทำแล้ว คือผลดีย่อมเกิดแต่เหตุดี ผลไม่ดีย่อมเกิดแต่เหตุไม่ดี
พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงนี้ ที่แม้เห็นได้ยาก แต่ก็เป็นความจริงที่เที่ยงแท้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ จะมีผู้เข้าใจหรือไม่ จะเข้าใจผิดถูกอย่างไรก็ตาม ความจริงนี้ย่อมเป็นความจริงตลอดไป ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น

หมั่นพิจารณาในเรื่องของกรรมเสมอ

โอกาสมีอยู่เสมอสำหรับที่จะพิจารณาให้เกิดปัญญารู้ตามพระปัญญาในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม ทุกลงหายใจเข้าออก พิจารณาเรื่องของกรรมได้ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร เพียงทำใจให้สงบพอสมควรก่อน เพื่อเหมาะแก่การน้อมไปใช้พิจารณาให้เกิดผลให้เป็นความรู้ของตน มิใช่เป็นความรู้ของพระพุทธองค์ ที่ตนเพียงจดจำไว้เท่านั้น เพราะความรู้ของผู้อื่นนั้น แม้จดจำไว้อย่างมิได้รู้มิได้เข้าใจจริงด้วยตนเอง ความรู้นั้นก็ยังมิใช่ปัญญาของตน
เห็นอะไร ได้ยินอะไร อย่าสักแต่ว่าเห็น อย่าสักแต่ว่าได้ยิน อย่าสักแต่ว่ารู้เช่นที่ได้เห็น อย่าสักแต่ว่ารู้เช่นที่ได้ยิน อันมิใช่ปัญญา เห็นแล้วต้องให้เป็นปัญญา ได้ยินแล้วต้องให้เป็นปัญญามากน้อยก็ต้องให้เกิดปัญญาขึ้นมาบ้าง คือเห็นอะไรแล้วก็ต้องคิด ได้ยินอะไรแล้วก็ต้องคิด คิดให้ดี คิดให้มีเหตุผล ด้วยใจที่สงบ คิดเนือง ๆ

ปัญญาอันเกิดแต่การเรียนและการคิด

ปัญญาเกิดแต่เรียนและคิด เรียนนั้นหมายได้ทั้งเรียนด้วยหู เรียนด้วยตา คือฟังที่มีผู้สอนก็ได้ อ่านที่มีผู้เขียนก็ได้ เห็นที่ปรากฏให้เห็นก็ได้ เรียนดังกล่าวทุกอย่างต้องเรียนและคิดจนเป็นปัญญา จึงจะได้ประโยชน์จริงจากการเรียน
อะไร ๆ มากมายที่ได้พบได้เห็นได้ยินได้ฟังอยู่ไม่ว่างเว้น แม้ใช้ความคิดประกอบความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ได้ศึกษาแล้วย่อมได้ปัญญาเห็นจริงได้ แม้ทำให้เนือง ๆ

ความแตกต่างอันน่าพิศวงของกรรม

ผู้ที่ได้พบเห็นอยู่ทุกเวลาหามีที่เหมือนกันไม่ ทุกคนแตกต่างกัน แม้จะอบรมตามปัญญาให้เห็นเรื่องของกรรมอย่างชัดแจ้ง จงตั้งข้อสังเกตความแตกต่างของทุกผู้ทุกคนที่ได้ประสบพบผ่าน
ทำไมจึงมีผู้เกิดในชาติตระกูลสูง พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สิน เงินทองของน่าใคร่น่าปรารถนา
ทำไมจึงมีผู้เกิดในชาติตระกูลสูง แต่ไม่พรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งปวง
ทำไมจึงมีผู้เกิดในชาติตระกูลต่ำที่ลำบากยากแค้น
ทำไมจึงมีผู้เกิดในชาติตระกูลต่ำที่อุดมสมบูรณ์
ทำไมจึงมีผู้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจของผู้ได้พบเห็น
ทำไมจึงมีผู้มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์น่ารังเกียจ
ทำไมมากมายหลายทำไมนี้แหละ แม้หาคำตอบไม่ได้ที่แน่ใจจริงว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ก็พึงพยายามเข้าใจว่าเป็นเรื่องของกรรม กรรมที่ต่างได้ทำไว้แตกต่างกัน อันเป็นเหตุทำให้เกิดผลที่แตกต่างกันดังกล่าว
ความแตกต่างกันอย่างน่าพิศวงของใครต่อใครที่มีให้เห็นอยู่มากมายทุกหนทุกแห่ง บางคนดีแสนดี บางคนเลวแสนเลว ที่แสนสุขด้วยความพรั่งพร้อม เหล่านี้มิใช่เพราะเหตุใดอื่น มีกรรมของตนเองเป็นเหตุทำให้เป็นไป แต่การจะทำใจให้เชื่อว่าเป็นกรรมเช่นนี้ ก็มิใช่เป็นไปได้แก่คนทั่วไป ใจของคนทั่วไปจึงยังไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่อาจปลงใจลงไปได้ว่าอะไรทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น ล้วนเป็นเรื่องของกรรม เป็นผลของกรรม ที่ต่างได้พากันทำไว้ทั้งนั้น อาจจะในชาตินี้ หรืออาจจะในอดีตกาลนานไกล

ผลจากการปลงใจเชื่อในเรื่องของกรรม

ความปลงใจเชื่อให้จริงในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมมีผลใหญ่ยิ่ง จะทำให้กลัวการทำกรรมไม่ดี เมื่อไม่ทำกรรมไม่ดี ผลไม่ดีย่อมไม่เกิดแก่ตน ความสบายทั้งปวงย่อมมีมา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่เชื่อเรื่องการให้ผลของกรรมว่าตรงตามเหตุ จะลองพิสูจน์ด้วยการไม่ทำกรรมไม่ดีให้ตลอดไป ก็ย่อมจะได้ผลเป็นการรับรองความถูกต้อง ว่าผลของกรรมจักไม่ผิดไปจากเหตุ
ความสบายใจที่เกิดจากความปลงใจเชื่อในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมนั้นใหญ่ยิ่งมาก เมื่อต้องประสบความทุกข์ยากใดก็ตาม ความเชื่อในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมจะทำให้ปลงใจยอมรับว่า ตนเป็นผู้ทำเหตุที่ไม่ดีไว้ อาจจะในปัจจุบันชาติหรือไม่ก็ในอดีตกาลนานไกล ที่นานจนจำไม่ได้ ระลึกไม่ได้ และการให้ผลของกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จะเร็วหรือช้าก็ต้องให้ผลแน่ ข้ามภพข้ามชาติก็ให้ผล เรื่องของกรรมจึงล้ำลึก เข้าใจยากนักหนา ถ้าเข้าใจแม้เพียงพอสมควร ก็จะได้ความสบายใจกว่าไม่เข้าใจเสียเลย
ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม มีโทษสถานเดียว ไม่มีคุณเลย ไม่ว่าจะเป็นกรรมของตัวเอง หรือกรรมของผู้อื่นก็ตาม ผู้มีปัญญาแม้พอสมควร จึงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของกรรม หรือแม้ไม่เข้าใจจริงก็ใช้วิธีเชื่อไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นการแสดงความเป็นผู้มีปัญญายิ่งกว่าผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อเลย

ทำกรรมดี ย่อมเกิดผลดี

ทำดีย่อมเกิดผลดี ทำไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี
อันกรรมหรือการกระทำนั้น แม้ได้กระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือการประกอบกระทำก็ตาม จักแก้กลับคืนไม่ได้ ทำแล้วก็เป็นอันทำแล้ว ผลย่อมเกิดตามมาอย่างแน่นอน ทำดีย่อมเกิดผลดี ทำไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี

ทำดีไม่ได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ไม่ดีกำลังส่งผล

ที่ชอบกล่าวกันพร่ำเพรื่อในยุคนี้สมัยนี้ว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำไม่ดีกลับได้ดีนั้น ถ้าจะให้ถูกต้อง ควรต้องขยายความให้ยาวออกไปด้วย เช่นว่า ทำดีไม่ได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ไม่กำลังส่งผล ทำไม่ดีกลับได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ดีกำลังส่งผล
ถ้า
กล่าวขยายให้สมบูรณ์ดังนี้ ก็จะได้ความเข้าใจในเรื่องผลของกรรมชัดเจนถูกต้องขึ้น คือกรรมนั้นแม้ทำแล้ววันหนึ่งต้องให้ผล จนสามารถทำให้กรรมปัจจุบันต้องส่งผลช้าไปได้ คือ กรรมดีในปัจจุบันไม่อาจส่งผลดีได้ทันที เมื่อมีผลกรรมไม่ดีในอดีตแรงกว่า หรือกรรมไม่ดีในปัจจุบัน ไม่อาจส่งผลไม่ดีได้ทันที เมื่อมีผลของกรรมดีในอนาคตแรงกว่า
แม้เชื่อในเรื่องกรรมเพียงไร ทิฐิที่ไม่ชอบก็อาจพาให้ทำกรรมไม่ดีได้
เมื่อเชื่อเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมแล้ว ก็ต้องเชื่อในเรื่องทิฐิคือความเห็นด้วย ไม่เช่นนั้น แม้เชื่อในเรื่องกรรมเพียงไร ทิฐิที่ไม่ชอบก็อาจพาให้ทำกรรมไม่ดีได้ โดยมิจฉาทิฐินำให้เห็นกรรมดีเป็นกรรมไม่ดี กรรมไม่ดีเป็นกรรมดี
แต่การจะรู้ว่าคนมีทิฐิอย่างไร สัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิ ก็เป็นการยาก ต้องอาศัยปัญญาที่ประณีตในการพิจารณา ต้องรอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ไม่มีการหลงตัวลืมตัวแอบแฝงอยู่ในจิตใจ ไม่มีตัณหาอุปาทานรุนแรง แม้ว่ายังมีอยู่ตามวิสัยของผู้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังเป็นปุถุชน
กรรมทั้งปวงของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งจิตใจ
อันการประกอบกระทำกรรมทั้งปวงของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจใจ ดังที่ท่านกล่าวใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ แต่ใจนั้นก็เป็นไปตามพลังสอง พลังหนึ่งเป็นพลังของกิเลส โลภ โกรธ หลง อีกหลังหนึ่งเป็นพลังของเหตุผล

พลังของกิเลสเป็นพลังที่ทำให้มืดมัว เป็นความโฉดเขลาเบาปัญญา

พลังของเหตุผล เป็นพลังที่ทำให้แจ่มใสสว่าง เป็นความมีปัญญาเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง
ถ้าใจตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสมาก ก็มืดมัวมาก เบาปัญญามาก
ถ้าใจมีพลังเหตุผลมากก็มีความสว่างแจ่มใสมาก ปัญญามาก
สติที่เข้มแข็ง ตั้งมั่น สามารถชนะความคิดที่จะก่อกรรมไม่ดีได้
อย่างไรก็ตาม สติมีความสำคัญที่สุด สติมีหน้าที่ตัดสินว่าจะให้กิเลสชนะเหตุผล หรือจะให้เหตุผลชนะกิเลส
ถ้าสติอ่อน ไม่ตั้งมั่นอยู่ ก็จะยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือ กิเลสจะครองใจยิ่งกว่าเหตุผล ชื่อว่าเชื่อกิเลสยิ่งกว่าเชื่อเหตุผล
ถ้าสติเข้มแข็งตั้งมั่นอยู่ ก็จะไม่ยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือ เหตุผลจะครองใจยิ่งกว่ากิเลส ชื่อว่าเชื่อเหตุผลยิ่งกว่ากิเลส เป็นผู้ใช้เหตุผลยิ่งกว่าเป็นผู้ให้กิเลสใช้
สัมมาทิฐิ : ความเห็นชอบ ปัญญาอันนำมาซึ่งความพ้นทุกข์สิ้นเชิง
สำคัญที่สุดในมรรคมีองค์
8 ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ อันเป็นปัญญายิ่ง
ความเห็นชอบ คือ ความเห็นตัวด้วยปัญญา ว่าผลทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่ก่อเหตุ
...ไม่เกิดผล ดับเหตุได้ก็ดับผลได้ ปรารถนาให้ผลดับแต่ไม่ดับเหตุ ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา ปรารถนาผลดีไม่ก่อเหตุดี ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา
เมื่อมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบดังนี้อย่างหนักแน่น ย่อมมีความดำริชอบตามมาที่จะปฏิบัติเพื่อดับเหตุไม่ดีทั้งปวง เพื่อให้ผลไม่ดีทั้งปวงดับไปด้วย
ความดำริชอบ จะดำริให้มีวาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ การปฏิบัติชอบดังกล่าวทุกประการ จักเป็นเหตุให้เป็นไปตามทางของความเห็นชอบ ดับเหตุไม่ดีทั้งปวงได้ นั่นก็คือทำผลไม่ดีทั้งปวงให้ดับได้ ที่สำคัญสุดยอดคือความสามารถดับเหตุแห่งความทุกข์ได้ ทำให้ความทุกข์ทั้งปวงดับได้ ได้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปได้
ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น
ทุกคนมีความรู้แน่อยู่แก่ใจ ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่า ไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย จึงเหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง จึงเหมือนเป็นสิ่งไม่มีค่าไม่มีประโยชน์
ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เป็นสิ่งเป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้สำคัญนี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถนำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ใดอาจเปรียบปานได้
เพื่อเสริมส่งความรู้นี้ให้บังเกิดคุณ บังเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาทั้งหลายท่านจึงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ
5 นาที 10 นาที เป็นอย่างน้อย
กรรมนั้น เมื่อทำแล้ว ก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าสู่ร่างกาย
ผู้เบียดเบียนเขา แม้จะได้สิ่งที่มุ่งไว้ แต่ผลที่แท้จริงอันจักเกิดจากกรรม คือ การเบียดเบียนที่ได้ประกอบการทำลงไปนั้น จักเป็นทุกข์เป็นโทษแก่ผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้ายแรง กรรมนั้นเมื่อทำแล้วก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว จักไม่เกิดผลร้ายแก่ชีวิตและร่างกายย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว
เราเป็นพุทธศาสนิกนับถือพุทธศาสนา พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจัง ถูกต้องในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมเถิด จักเป็นสิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง

เมื่อสัตว์จะตายไม่มีผู้ป้องกัน

ความตายเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลานาที พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า
“เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน” และ “จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้ ประเทศ คือ ดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ ไม่มี” เราจะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไร ที่ไหน เราไม่รู้ หายใจออกครั้งนี้ แล้วเราอาจไม่ได้หายใจเข้าอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตาย ไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ เพราะ “เมื่อสัตว์จะตายไม่มีผู้ป้องกัน” และ “ความผัดเพี้ยนกับมฤตยู อันมีกองทัพใหญ่นั้นไม่ได้เลย”
ทุกย่างก้าวของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด จึงนำไปถึงมือมฤตยูได้ทั้งสิ้น ผู้ร้ายก็เคยตกอยู่ในมืองมฤตยู ทั้งที่ถุงใส่เงินแสนเงินล้านที่ไปปล้นจี้มายังอยู่ในมือ ไม่ทันได้ใช้ ได้เก็บเข้าบัญชีสะสมเพื่อความสมปรารถนาของตน
นักการเมืองไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูในขณะกำลังเหนื่อยหน่ายใจ ใช้หัวคิดทุ่มเทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน

ทุกคนล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ทุกคนล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

ผู้ที่กำลังยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขกับครอบครัว เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ ๆ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ผู้เหินฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหฬารราวกับตึก ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่คาดคิด ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรใหญ่ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายร้อยชีวิต นักไต่เขา ผู้สามารถ ก็เคยหายสาบสูญในขณะกำลังไต่เขา โดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู
ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องยืนยันสัจจะแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบี้องหน้า”
การหัดตาย ก็คือปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย
ปราชญ์ทางพุทธศาสนา คือ ผู้มีปัญญา ท่านสอนให้เร่งอบรมมรณสติ นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง
จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตายก็คือ เพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลายก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย กิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหาอุปาทาน หัดละเสีย ปล่อยเสีย พร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงได้ทุกวินาที ไม่ว่าจะแก่เฒ่าหนุ่มสาวหรือเด็กเล็กเพียงไหน

ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน

เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีก สิ่งที่เป็นนามแลไม่เห็นด้วยสายตา เช่นเดียวกับลมหายใจ คือ จิต ก็จะออกจากร่างนั้นด้วย จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม ลักษณะเดิม คือ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงที่มีอยู่
ในขณะจิตจะออกจากร่าง คือ ขณะยังเป็นจิตของคนเป็น ขณะยังเป็นจิตของคนยังไม่ตาย พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้” กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสจึงเป็นจิตที่เศร้าหมอง กิเลสมากจิตก็เสร้าหมองมาก กิเลสน้อยจิตก็เศร้าหมองน้อย จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละจากร่างก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิไปสู่นั้นจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี คติที่ไม่มีความสุข มากน้อยหนักเบาตามกิเลส ตามความเศร้าหมองของจิต

เมื่อถึงเวลาตาย ทรัพย์สมบัติสักนิด ก็ติดตามคนตายไปไม่ได้

เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาหวงแหน ทะนุบำรุงร่างของตนไว้ได้ แม้สมบัติพัสฐานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยสุจริตก็ตาม ด้วยเล่ห์ ด้วยกลก็ตาม เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงร่างกายของตน ก็ติดไปกับร่างไม่ได้เลย
เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า “ทรัพย์สักนิด ก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพังเน่าเปื่อย คืนสู่สภาพเดิม เป็นดินน้ำลมไฟประจำโลกต่อไป” ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่าไว้ “สัตว์ทั้งปวง จักทอดทิ้งร่างไว้ในโลก”

กรรมไม่ดีของตน ย่อมนำไปสู่ทุคติ

ผู้มีความเข้าใจว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้วจึงไม่มีความหมาย นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สุขทุกข์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องชาติก่อนอย่างไร พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนจะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดชาติอื่นมาแล้ว และจะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ แต่ทั้งที่เชื่อเช่นนั้นก็ยังมีเป็นอันมากที่มีโมหะหลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งดังกล่าวแล้ว ว่าจบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว เราก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติต่อไป
เพราะฉะนั้น ก็ต้องสำคัญที่ต้องแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้ ผู้ใดมีโมหะหลงคิดผิดเช่นนี้ ผู้นั้นก็จะสามารถทำความผิดร้ายแรงได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำลายเขาแม้กระทั่งชีวิตก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน ตนจะต้องเสวยผล เสวยทุกขเวทนาทั้งโลกนี้ และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธภาษิตว่า “กรรมของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคติ”

ชีวิตเรา...เราก็รัก ชีวิตเขา...เขาก็รัก เช่นกัน

ชีวิตใครใครก็รัก ชีวิตเราเราก็รัก ชีวิตเขาเขาก็รัก ความตายเรากลัว ความตายเขาก็กลัว ของใครใครก็หวง ของเราเราก็หวง ของเขาเขาก็หวง จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เห็นเราเป็นเขา คือเขาเป็นผู้จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง

ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักหนา

ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวผู้แม้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้ว แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่อย่างน่าสงสารที่สุด
พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้คิดถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตาย และจะตายในเวลาไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่แสนชั่วช้าโหดร้ายเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า
ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์ เพราะความโลภอยากได้ แล้วก็แผ่ความทุกข์เดือนร้อนไปถึงคนอื่นอย่างน่าอเนจอนาถ ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุด จะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีขโมยหรือประหัตประหารผลาญชีวิตผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้แน่นนอนด้วยทำกิเลสให้หมดจดเท่านั้น

การทำเหตุดีอย่างสุจริต ไม่ว่าจะได้มาเล็กน้อยเพียงไร ก็เป็นสิ่งที่ดี

ผลที่เป็นลาภยศสรรเสริญสุขนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่ดีเสมอไป จะเป็นสิ่งที่ดีก็ต่อเมื่อได้มาเพราะการทำเหตุดี ถ้าได้มาเพราะการทำเหตุไม่ดี ลาภยศสรรเสริญสุขที่ได้มานั้นก็เป็นสิ่งไม่ดี ถ้าได้ลาภยศสรรเสริญสุขมาเพราะการโกงกินหลอกลวงเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะได้มามากมายใหญ่ยิ่งเพียงไหน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ดีไปไม่ได้ ถ้าได้มาเพราะการทำเหตุดีอย่างสุจริต ไม่ว่าจะได้มาเล็กน้อยเพียงไรก็เป็นสิ่งที่ดี ฉะนั้นการรู้จักเหตุดีที่จะให้ผลดี เหตุไม่ดีที่จะให้ผลไม่ดี จึงเป็นธรรมสำคัญ

การทำเหตุไม่ดี...ผลที่ได้ก็จักเป็นผลไม่ดี

การทำเหตุเพื่อให้ได้ผลมานั้น แม้เป็นผลที่ได้มาอย่างไม่ถูก ไม่ชอบ ก็เป็นการทำเหตุไม่ดี และผลที่ได้ก็เป็นผลไม่ดีแน่นอนก็คือ การให้ผลมาที่เหมือนเป็นผลดีจักทำให้เกิดผลร้ายแก่เจ้าตัวผู้กระทำเหตุไม่ดี ผู้ที่สามารถทำเหตุไม่ดีจนได้ลาภมากมายยิ่งใหญ่ ก็มีเป็นอันมากที่มีกิตติศัพท์ชื่อเสียงเน่าเหม็น เป็นที่น่าสลดสังเวชปรากฏอยู่ตลอดมา ทั้งในประวัติศาสตร์ และแม้ในเหตุการณ์ปัจจุบัน ลาภยศได้มาแล้ว หมดสิ้นไปแล้ว พร้อมกับการจบสิ้นของชีวิตเป็นอย่างช้า แต่ความเสื่อมเสียยังปรากฏชัดเจนอยู่ เช่นผู้ที่ทำเหตุไม่ดีไว้ในประวัติศาสตร์ แม้ผู้ไม่ประสบพบผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ด้วยตนเอง เพราะเกิดหลังเป็นร้อยปีพันปี แต่ประวัติศาสตร์ก็สามารถทำให้คนหลังเหตุการณ์แม้นานไกลเพียงใดรู้เรื่องราวได้ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว

การทำเหตุไม่ดี แม้ได้ผลเหมือนผลดี แต่จะเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง ยืนนานอย่างยิ่ง

ความดีและความชั่วถูกบันทึกไว้ยั่งยืน ความรู้สึกยกย่องสรรเสริญอย่างจริงใจ และความดูถูกสลดสังเวชจึงสามารถเกิดได้อยู่เสมอ จึงกล่าวว่า การทำเหตุไม่ดี แม้ได้ผลเหมือนผลดี แต่จะเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง ยืนนานอย่างยิ่ง

จบตอนที่ ๑ โปรดอ่านโพสต์หน้าถัดไป

** กรสยาม (เกรียงไกร) ศรีระกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น