วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

LOI KRATHONG FESTIVAL - ลอยกระทง

มหกรรมเทศกาลลอยกระทงแห่งประเทศไทย
             ประเพณีลอยกระทงของประเทศไทยนับว่าเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่ง ที่แทบทุกจังหวัดได้จัดเหมือนๆกัน อาจแตกต่างกันที่รายละเอียด แต่ไฮไลท์ที่สำคัญคือต้องมีการลอยกระทงลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง สระ หนองหรือบึง ตามแต่ละสถานที่ที่จัดไว้ วันนี้เราลองมาค้นดูกันว่าในแต่ละที่มีการจัดงานอย่างไรกันบ้าง และที่มาของประเพณีลอยกระทงมาจากเรื่องราวต่างๆอย่างไร เชิญทัศนาให้เพลิดเพลินใจได้เลยครับ
......................................................................

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที บางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก บางหลักฐานก็กล่าวถึงการรับคติวามเชื่อต่างๆจากชมพูทวีปแล้วมาดัดแปลงประยุกต์ให้เข้ากับความเชื่อของคนไทยเอง สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เงินเหรียญลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย

ประวัติความเป็นมา เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่1

ประวัติความเป็นมาอีกความรู้หนึ่ง ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800 ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าว่า "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..." เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้

ประวัตินางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์


นางนพมาศ เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อ โชติรัตน์ มีราชทินนามว่า พระศรีมโหสถ รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต มารดาชื่อ เรวดี ภายหลังนางนพมาศได้ถวายตัวเข้าทำราชการในราชสำนักสมเด็จพระร่วงเจ้า สันนิษฐานว่ารับราชการในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)หรือพระร่วงเจ้าสุโขทัย จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" พระสนมเอก ปรากฏในพงศาวดารว่า นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา ที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน นำไปถวายพระร่วงเจ้า เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้ามาก

ครั้งที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

ครั้งที่ 3 นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้

นางนพมาศ ได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น การประดิษฐ์ พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรียกอีกชื่อว่า หนังสือ นางนพมาศ

นางนพมาศเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า “กวีหญิงคนแรกของไทย” ดังที่เขียนไว้ว่า “ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน ”

เหตุที่กระทงเป็นรูปดอกบัว ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
นพมาศนามแม่นี้

เดิมมา
โปรดเปลี่ยนศรีจุฬา-

ลักษณ์ล้ำ
อุดมรูปปรีชา

ชาญยิ่ง นะแม่
หญิงภพใดจักก้ำ

กว่านี้ฤามี ฯ

 

ว่าด้วยพิธีจองเปรียง

พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประ-เทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปและสัณฐานต่างๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบรายตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุบผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาทซึ่งประดิษ-ฐานยังนัมมทานที และข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผกาเกสรศรีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ใหญ่ ประมาณเท่ากงระแทะล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุรคณานกวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเป็นระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยสีย้อมสดส่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปและประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัครชายา พระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมชัยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพีพระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัลเป็นลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิ์โสภาก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่า ทำโคมลอยให้แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเป็นดังไร ข้าน้อยก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระจันทร์แจ่มแจ้งปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์มีแต่จะแบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนันมทานที อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราคณานกวิหคหงส์ประดับ และมีประเทียบเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธสาสน์ไสยศาสตร์ ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึ่งมีพระราชบริหารบัญญัติสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศ ก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง

อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยโคมแล้ว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีจนรอบกรุง ทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวร ทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันพึงปรารถนานั้นด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการมหรศพต่างๆ สำราญราชหฤทัยทั้งสามราตรี และเมื่อจะเสด็จนั้น ลางทีก็ดำรัสเรียกพระอัครชายา พระบรมวงศ์ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย บางทีก็สั่งให้นางบำเรอสำหรับขับร้อง และนางพระสนมผู้สนิทไปลงเรือที่นั่งตามเสด็จ และในราตรีขึ้น ๑๔ ค่ำวันนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงลอยโคมแก้ว ก็ลงเรือพระที่นั่งชื่อประพาสแสงจันทร์ เสด็จด้วยนางบำเรอ จึงมีพระราชบรรหารดำรัสเรียกให้ข้าน้อยลงเรือพระที่นั่งไปด้วย ครั้นเสด็จไปถึงหน้าพระอารามแห่งใดชาวพนักงานก็จุดดอกไม้เพลิง พุ่มพะเนียงพลุระทากระถาง แสงสว่างกระจ่างจับผนังหลังคาพระพิหารการบุเรียน อร่ามงามชวนน้ำจิตให้มีประสาทศรัทธาเลื่อมใสโสมนัส ทั้งน่าชมเรือนร้านม้าผ้ายังสุกุลประดับด้วยโคมปักโคมห้อยสว่างไสวจอดเรียงรายถวายให้ทรงจบพระหัตถ์ มีทุกท่าพระอารามหลวง และหน้าบ้านร้านแพเหล่าตระกูลทั้งหลาย ก็ตกแต่งห้อยแขวนโคมประทีปพวงบุบผามาลัยผูกระใบศรีต่างๆ ตั้งโต๊ะแต่งเครื่องสักการบูชาประกวดกันทั้งสองฟากฝั่งนที แสงสว่างดุจทิวาวันเดียรดาษด้วยนาวาประชาราษฎรตีฆ้องกลองขับร้องเพลงเกริ่นเพลงกรายโชยชายเห่ช้าชมเดือน ทั้งดนตรีดีดสีสังคีต อันเหล่เรือประเทียบท้าวพระยาพระหลวงก็แห่ผ้าบังสุกุล ไปเที่ยวทอดถวายพระสงฆ์เจ้าในพระอารามต่างๆ ล้วนแต่แต่งกรัชกายนุ่งผ้ารัดครีห่มสีแดงสุกแดงแสดแซมซ้องผมด้วยพวงผกาเกสร แสงพระจันทร์จับนวลหน้าลออเอี่ยม บ้างก็ขับเพลงพิณเพลงแพนเพลงดุริยางค์โหยหวนสำเนียงเสียงเสนาะน่าพึงฟัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดทัศนามหาชนเล่นนักขัตฤกษ์สำราญราชหฤทัย จึ่งดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์ผูกกลอน เป็นเพลงขับให้นางบำเรอร้องถวายในขณะนั้น ข้าน้อยคิดเกรงพระราชอาญายิ่งนัก แต่อุตส่าห์แข็งใจนิพนธ์กลอนว่า
๏ ข้าน้อยนพมาศอภิวาทบาทบงสุ์ด้วยจงจิตต์
ยังนิพนธ์กลกลอนอ่อนความคิดอันชอบผิดขอจงโปรดซึ่งโทษกรณ์
เป็นบุญตัวได้ตามเสด็จประพาสนักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร
สว่างไสวไปทั่วทั้งนครทิฆัมพรก็แจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย ฯ
            
๏ น่าแสนสำราญจิตต์ทั้งสิบทิศรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์
สงสารแต่พระสนมกำนัลมิได้เห็นเป็นขวัญนัยนา
แม้เสด็จด้วยที่นั่งบัลลังก์ขนานเวรอยู่งานและเจ้าจอมมาพร้อมหน้า
จะชวนกันเกษมเปรมปรีดาขอประทานโทษาข้าน้อยเอย ฯ
            
สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับกลกลอนดังนั้น ก็แย้มพระโอษฐ์ทรงพระสรวล แล้วดำรัสว่าข้าน้อยกล้ากล่าว จะให้พาพวกพ้องมาเที่ยวดูการนักขัตฤกษ์เล่น โดยน้ำใจคิดเห็นว่าจะได้ผลได้ประโยชน์ดังไร ข้าน้อยก็ทูลสนองพระราชบัญชาว่า ข้าพระองค์ได้เห็นเรือประเทียบท้าวพระยา ล้วนแต่ตกแต่งเนื้อตัวนุ่งห่มสีสันต่างๆ ประกวดกันดูก็งดงาม อันพระสนมกำนัลทั้งปวง ย่อมได้รับพระราชทานสรรพเครื่องอลังการาภรณ์ทั่วกัน และเมื่อมิได้ตกแต่งกรัชกายในการนักขัตฤกษ์แล้ว ก็จะทอดทิ้งให้เศร้าหมองเสียสีอันตรธานเสียด้วยสิ้นรัก ขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีมีอิสริยยศแล้ว ย่อมรักใคร่ในการที่จะตกแต่งกายาสิ้นทุกตัวคน ถึงจะตกแต่งอยู่ในพระราชฐานสักร้อยครั้ง ก็ไม่สบายใจเท่าได้แต่งในการออกหน้าแต่ครั้งหนึ่ง และนักขัตฤกษ์จะมีก็ปีละครั้งคราว ข้าน้อยอยากจะใคร่ได้เห็นทั่วๆ กัน จึ่งกล้ากราบทูลดังนี้ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษณีภาพในความเรื่องนี้ ดำรัสกิจอันอื่นโดยพระราชอัชฌาสัย ครั้นบังควรกับเพลาแล้ว ก็เสด็จกลับยังพระราชนิเวศน์ จึ่งมีพระบัญชาสั่งชาวพนักงานทั้งหลายว่า ยังนักขัตฤกษ์อีกสองราตรี เราจะไปเที่ยวประพาสเล่นด้วยนาวาขนาน ท่านจงเตรียมการไว้ให้พร้อม ฝ่ายพระสนมกำนัลครั้นได้ทราบว่าจะได้โดยเสด็จก็ยินดีปรีดา ไม่ว่าเป็นเวรอยู่งานของผู้ใด แต่เพลาเย็นต่างก็จัดแจงแต่งกรัชกาย นุ่งห่มผ้าลิขิตพัสตร์ผ้าสุวรรณพัสตร์ปกปิดด้วยเครื่องอลังการาภรณ์ เสียบแซมผกามาสผกาเกสรในช้องผม ผัดผิวหน้านวลงามดังนางเขียนแต่งคิ้วให้ค้อมดุจเส้นวาด อันพระสนมกำนัลจำพวกหนึ่งเป็นคนรู้มากมักบอกแต่เจ็บไข้ พึงใจจะทำราชกิจแต่เมื่อคราวจวนๆ จะแจกจ่าย ก็ได้รับพระราชทานสรรพสิ่งที่อย่างเลวพอสมกับเกียจคร้าน ครั้นถึงที่จะมีการออกหน้าต้องตกแต่งก็คิดอายด้วยไม่เทียมเพื่อน จะนั่งอยู่ก็ไม่ได้ด้วยอยากจะใคร่เห็น ต้องเสือกสนขวนขวายจนสิ้นฤทธิ์ ไม่สมความปรารถนาแล้วก็ต้องจนใจ กลับได้คิดโทมนัสติเตียนตัว ว่ากูเอ๋ยรูปร่างหน้าตาก็เทียมท่าน แต่ประพฤติสันดานเป็นคนแชเชือนจะได้สิ่งใดก็ไม่เหมือนเขา จนต้องนอนนิ่งอยู่กับวัง น่าอัปยศอดสูแก่ผู้คนบ่าวไพร่ ตั้งแต่นี้ไปเบื้องหน้าจะอุตส่าห์พากเพียรให้เสมอพวกพ้องเป็นคนดีให้จงได้ ถ้าท่านผู้ใดกลับใจได้คิดเมื่อครั้งนั้น ก็นับว่ากลับตัวได้ด้วยเหตุคือปัญญาของข้าน้อยนพมาศ และในเพลาราตรีอันเป็นคำรบสองคำรบสามนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงประพาสการนักขัตฤกษ์ด้วยเรือพระที่นั่งบัลลังก์ขนาน พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชประยูรวงศา พระสนมกำนัล ซึ่งสนิทและประจำเวรอยู่งาน ทั้งนางบำเรอสำหรับขับร้องสำราญราชหฤทัยด้วยสโมสรพร้อมเพรียง จึ่งดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์กลกลอนเป็นเพลงขับ ให้นางบำเรอร้องเชยชมพระนครบ้าง และชมแสงพระจันทร์ดวงดาวนักขัตฤกษ์ยี่ ๒๗ อันเดินประจำจักรราศีคือ อัสสนี ภรณี กัตติกา โรหิณี มิคเศียร อัทระ บุนพสุ บุษยะ อสิเลส มาฆะ บุพผล อุตรผล หัตถะ จิตระ สวัสดิ วิสาขะ อนุราธะเชฎฐะ มูละบุรพาสาธ อุตรา สาวนะ ธนิษฎฐะ สัตภิสชะ บุพภัทะอุตราภัทะ เรวดี โดยตำรับข้าน้อยได้เล่าเรียน บรรดาพระบรมวงศาและพระสนมกำนัลต่างบันเทิงเริงรื่น ด้วยได้เห็นได้ฟังหมู่มหาชนชาวพระนครเล่นการนักขัตฤกษ์ ทั้งได้ตกแต่งกรัชกายประกวดกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรลูกหลวงหลานหลวงนางสนมกำนัล แต่งกายงามกว่าแต่งตามธรรมดา ก็พึงพอพระราชหฤทัย จึ่งพระราชทานเครื่องอลงการาภรณ์พรรณผ้านุ่งห่มล้วนแต่อย่างดีมีค่า เพิ่มเติมให้ทุกหน้าคณานาง ข้าน้อยก็ได้รับพระราชทานสองเท่า พระสนมกำนัลทั้งปวงต้องเป็นคนใหม่ ตั้งแต่นั้นมาถึงพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว สมเด็จพระร่วงเจ้าก็เสด็จทรงประพาสการนักขัตฤกษ์ พร้อมด้วยนางในทุกครั้ง จนได้เป็นตำราว่าเกิดขึ้นด้วยปัญญาข้าน้อยนพมาศ อันว่าหมู่พระสนมกำนัลทั้งหลายก็มีน้ำจิตรักใคร่ข้าน้อยด้วยเหตุสองประการ คือพระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงเสมอกันนั้นประการหนึ่ง คือเห็นความดีของข้าน้อยนั้นประการหนึ่ง แต่นั้นมาข้าน้อยก็ได้ทำกิจราชการรับใช้สอยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งวิสาสะคุ้นเคยกับพระสนมกำนัลสิ้นทั้งพระราชนิเวศน์
            

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

  • ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย-คำว่ายี่เป็งนี้มาจากคำว่า ยี่คือเดือนสองนับแบบชนชาติไทใหญ่และ เป็งคือคำว่าเพ็ญ)
    • จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
    • จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย" ลอยบนแม่น้ำปิง
    • จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

    • ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น
      • จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง
      • จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
      • จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน

      • ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
        • กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
        • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

        • ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

        นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

        ความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง


      • เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
      • เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที
      • เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
      • ชาวไทยเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตำนานเล่าว่า พระอุปคุตสามารถปราบพระยามารได้


      • เพลงรำวงลอยกระทง
        นับว่าประเพณีลอยกระทงนี้มีความสำคัญของชาติไทยอย่างหนึ่ง กล่าวคือให้ควมยกย่องเป็นประเพณีประจำชาติรองมาจากมหาสงกรานต์ ถึงขนาด่ามีเพลงประจำตัวของเทศกาลเช่นกัน เรามาทบทวนเนื้อหาของเพลงนี้กันนะครับ

        วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
        เราทั้งหลายชายหญิง
        สนุกกันจริง วันลอยกระทง

        ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
        ลอยกระทงกันแล้ว
        ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

        รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
        บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

        วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
        เราทั้งหลายชายหญิง
        สนุกกันจริง วันลอยกระทง

        ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
        ลอยกระทงกันแล้ว
        ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

        รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
        บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ


        ** กรยาม (เกรียงไกร) ศรีระกิจ

        ไม่มีความคิดเห็น:

        แสดงความคิดเห็น